Type your search keyword, and press enter

Blind and Braille#1@Australian International School of Bangkok

       สัปดาห์นี้ทั้งสัปดาห์ เราได้มีโอกาสเป็นอาสาสมัครของสมาคมคาราวานหนอนหนังสือ Always Reading Caravan ไปทำกิจกรรมกับเพื่อนของเราคือโยชิมิ โฮริอุจิ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรเล็ก ๆ ที่ทำงานด้านส่งเสริมการอ่านในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการระดมทุนให้กับองค์กร เพื่อนำไปดูแลศูนย์เด็กชาติพันธุ์บนภูเขาให้ได้กินอาหารครบถ้วน ได้เรียนหนังสือ และนอกจากนั้นก็เพื่อนำไปทำกิจกรรมในห้องสมุด และรถโมบายห้องสมุดเคลื่อนที่ โยชิมิบอกเราว่า การระดมทุนจากโรงเรียนนานาชาติ เป็นอีกช่องทางที่องค์กรทำมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว และจากประสบการณ์การทำงานในองค์กรที่ทำงานด้านส่งเสริมการอ่าน เราก็พบว่า ไม่ง่ายเท่าไหร่ที่จะมีผู้บริจาคเงินให้กับงานด้านนี้ ซึ่งก็เป็นโอกาสดีของเราจริง ๆ ที่ได้เข้าไปช่วยงานนี้อย่างใกล้ชิดภายใน @AISB Australian International School of Bangkok เราได้เข้าไปสัมผัสว่า ความคิดของเด็ก ๆ ผู้ปกครองและผู้บริหารโรงเรียนนั้นเป็นอย่างไร
        โดยเราจะขอเริ่มเล่าจากข้อมูลทุก ๆ อย่างที่เราจำได้ เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจจะบริจาค และสนใจที่จะนำกิจกรรมดังกล่าวพัฒนาต่อยอดไปทำกับเด็ก ๆ ต่อไป โอเค มาเริ่มกันเลยดีกว่า…. จากการประชุมงาน นอกจากโยชิมิจะเป็นผู้ดำเนินรายการแล้ว ในทีมของเรายังมีผู้ปกครองชาวญี่ปุ่น ชาวไต้หวัน และชาวไทยมาช่วย ตอนแรกเราก็คิดว่า ทำไมมีคนเยอะแยะ แต่พอเอาเข้าจริง ๆ การทำงานกับเด็กอย่างใกล้ชิดจำเป็นต้องใช้ผู้ใหญ่จำนวนมาก ประมาณแล้วเมื่อวาน ทีมอาสาทั้งหมดมีประมาณ 6-8 คน ต่อเด็กทั้งหมด 16-20 คน โดยโยชิมิ ได้แนะนำตัวเองก่อนว่า ตนเองว่าเป็นผู้พิการทางสายตา
         เราสังเกตได้ชัดว่า เด็ก ๆ จะมองไปที่โยชิมิด้วยความสงสัย สำรวจ และมีคำถาม ช่วงนี้โยชิมิจะอธิบายให้เด็ก ๆ ฟัง เกี่ยวกับเงื่อนไขทางการมองเห็น และบอกกับเด็ก ๆ ว่า ผู้พิการทางสายตา สามารถอ่านหนังสือและรับรู้เรื่องราวได้ผ่านการใช้มือ หรือนิ้วมือสัมผัส (ปีนี้ใช้ธีมประสาทสัมผัสทางผิวหนัง) จากนั้น ก็ถามเด็ก ๆ ว่า พอจะรู้จักตัวอักษร ที่สร้างขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับผู้พิการทางสายตาหรือผู้มีสายตาเลือนลางบ้างมั้ย ถึงตรงนี้ มีเด็กเล็ก ๆ บางคนตอบได้ แต่หลายคนจะอธิบายว่า มันจะเป็นจุดเล็ก ๆ ที่นูนขึ้นมาจากกระดาษ โยชิมิก็อธิบายต่อไปว่า ตัวอักษรดังกล่าว เรียกว่า เบรลล์ ถูกคิดค้นขึ้นมาโดยชาวฝรั่งเศส ชื่อว่า หลุยส์ เบรลล์
        หลังจากนั้น ทีมอาสาสมัคร ก็ช่วยกันแจกหนังสือที่มีหนังสือเบรลล์ หนังสือที่เอามาแปลเป็นเบรลล์ และหนังสือที่เรียกว่า หนังสือสัมผัสหรือ Tactile Book โดยเด็ก ๆ ที่นั่งตามกลุ่มจะแบ่งปันกันทดลองอ่านหนังสือ โดยที่มีข้อแม้ว่า จะต้องปิดตา และใช้นิ้วสัมผัสลงไปที่กระดาษ เราสังเกตว่า ตอนนี้เด็ก ๆ สนุกไปกับการทดลองจดจำสิ่งต่าง ๆ ผ่านการใช้ประสาทสัมผัส หนังสือประเภทนี้เต็มไปด้วยลายแทงที่จะทำให้สมองจดจำข้อมูลจากปลายนิ้ว แล้วประมวลผลจากข้อมูลเดิมที่เด็ก ๆ สะสมมาก่อนหน้า แล้วก็แปรความเป็นข้อมูลที่สมบูรณ์แบบ สำหรับเรารหัสลับของการทำงานด้านสมองตรงนี้น่าสนใจมาก หลังจากนั้น โยชิมิก็ให้เด็ก ๆ ลองช่วยกันคิดว่า ถ้าหากไม่มีมีหนังสือเหล่านี้ เด็ก ๆ จะสามารถนำอะไรมาแทนจุดเล็ก ๆ แทนอักษรเบรลล์ และทำมาหนังสือสัมผัสได้บ้าง
        ไอเดียของเด็กน่าสนใจ มีหลายคนเสนอว่า เข็ม กาวร้อน กาว เมล็ดพืช ลูกปัด สไลม์ เส้นมักกะโรนี กระดาษที่ทำเป็นรอย และกระดาษแข็งที่ขึ้นเป็นรูปทรง นำมาใช้แทนอักษรเบรลล์ได้ ต่อมาทีมอาสาก็มีกล่องปริศนา ใส่วัสดุที่มีพื้นผิวแตกต่างกัน เพื่อกระตุ้นให้เด็ก ๆ ฝึกประสาทสัมผัส โดยให้ปิดตา และล้วงมือเข้าไปในกล่อง ใช้เพียงการสัมผัส การสังเกต และอธิบายออกมาว่า สิ่งที่ผิวตนเองสัมผัสนั้น เป็นอย่างไร รูปร่างเป็นอย่างไรและเป็นวัสดุอะไรบ้าง แน่นอนว่าถึงเกมนี้ เด็ก ๆ ตื่นเต้น และแอบดูบ้าง แต่ก็น่าประทับใจ ที่เด็ก ๆ ได้ทดลองสัมผัสวัสดุที่หลากหลาย และทายถูกว่า สิ่งของปริศนาในกล่องนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เราแอบประทับใจคนนึง น้องอธิบายว่า วัสดุชิ้นนั้นทำมาจากผ้านุ่มนิ่ม เป็นเหมือนผ้าเช็ดหน้าผืนจิ๋ว ซึ่งนั้นหมายความว่า น้องได้ใช้งานสมอง ประเมินและประมวลผลได้อย่างละเอียดและคล่องแคล่ว        โดยขั้นตอนเบื้องต้นนี้ เด็ก ๆ จะมีภารกิจสำคัญที่สุดรออยู่ โยชิมิได้สรุปสั้น ๆ ว่า เนื่องจากเพื่อนที่มองไม่เห็นที่อยู่ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษยังต้องการหนังสือประเภทนี้อีกเป็นจำนวนมาก ภารกิจของพวกเราในวันนี้จึงต้องการให้เด็ก ๆ เป็นนักออกแบบ ออกแบบหนังสือให้กับเพื่อน ๆ ที่มองไม่เห็น โดยเด็ก ๆ จะต้องช่วยกันคิดว่า จะออกแบบหนังสือเล่มนี้ได้อย่างไร ทีมอาสาสมัคร มีวัสดุเตรียมให้ ได้แก่ ปกแฟ้มพลาสติก และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถทำให้เกิดพื้นผิวได้ โดยทีมอาสาและครูพี่เลี้ยงจะเป็นคนดูแลเรื่องการนำวัสดุติดกาวร้อน และนำไปแปะให้ เราสังเกตว่าตอนแรก ๆ เด็ก ๆ ก็ยังงง ๆ อยู่ว่าจะใช้วัสดุทำเป็นอะไรได้บ้าง ทีมอาสาและโยชิมิ จึงเข้าไปกระตุ้น ลองนำเทคนิคแบบต่าง ๆ ไปใช้กับวัสดุที่ทำเป็นพื้นผิว และบางครั้งก็เข้าไปเสริมว่า การออกแบบจะต้องไม่ง่ายจนเกินไป ควรที่จะมีความท้าทายให้กับเพื่อนที่มองไม่ให้ในการอ่านด้วย ซึ่งพอพวกเราแนะนำไปแบบนี้ปุ๊บ ผลงานที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็เป็นที่น่าสนใจ เราเลยเก็บภาพความน่าทึ่งพวกนี้มาฝากกัน
       ขอมีเวลาว่างอีกนิดแล้วจะมาเพิ่มรายละเอียดภาพแต่ละภาพว่า เด็ก ๆ ทำอะไรกันบ้าง ตอนเลิกงานก็ให้ฟีดแบ็กกันว่า พบอะไรที่น่าสนใจ ปรับปรุงอะไรบ้าง สำหรับเรามีการบ้านเพิ่ม คือกลับมานั่งนึกถึงการออกแบบกิจกรรมประเภทนี้ต่อ เพราะเราเชื่อว่า การทำกิจกรรมพวกนี้ผ่านการให้ความรู้และทดลองทำด้วยตัวเอง มันได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนกว่า ตอนที่เด็กพรีเซ้นท์ผลงานที่ละกลุ่ม เราก็เห็นว่า พวกเขาภูมิใจและเข้าใจถึงเงื่อนไขในการเข้าถึงการอ่านของเพื่อนที่มองไม่เห็นมากยิ่งขึ้น ถ้าทำกิจกรรมแบบนี้ได้ในหลักสูตรการศึกษาได้บ้าง คงจะเยี่ยมไม่ใช่น้อย …อยากให้มีเงินทุนที่ทำงห้นักวิชาการ ศิลปินหรือนักออกแบบ มาพัฒนาหนังสือหนังสือสัมผัส เวิคชอป หรือนิทรรศการอะไรบ้างจังเลย